ตอนนี้สายไปแล้วหรือยัง ? ที่เราจะลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ?!?

🔎 [Investment Insight] – ตอนนี้สายไปแล้วหรือยัง ? ที่เราจะลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ?!? 🤔

ท่ามกลางความตึงเครียดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายตัวปรับสูงขึ้นจนทำสถิติ All Time High กันไปแล้ว

📌 บทความจากแอด #Tda

ต่อเนื่องจาก 3 คำถามยอดฮิตท่ามกลางสงคราม Russia-Ukraine

1️⃣ การตัด Russia ออกจากระบบ SWIFT มีผลอย่างไร?

2️⃣ Commodity ยังน่าลงทุนไหม?

3️⃣ Bitcoin ยังลงทุนได้ไหม เป็น digital gold จริงหรือเปล่า?

วันนี้ทางแอด T-Da จะมาแชร์มุมมองส่วนตัวของคำถามข้อที่ 2 กันครับ (ใครยังไม่ได้อ่านบทความก่อนหน้านี้สามารถอ่านย้อนหลังได้จากลิ้งค์ในคอมเม้นท์เลยครับ)

——————————–

📌 Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ยังน่าลงทุนไหม?

ย้อนไปก่อนหน้านี้กันอีกครั้ง ที่แอดมินเพิ่งเขียนถึงผลตอบแทนของการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ว่าเมื่อดูสถิติย้อนหลังไป 50ปี พบว่า commodity ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 17.3% ต่อปี ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่แล้ว… เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ก็ถูกเรื่องสงครามระหว่าง Russia-Ukraine แซงขึ้นมาเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาด commodity และตลาดการเงินโลกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

Russia และ Ukraine เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายสำคัญสำหรับสินค้า commodity หลายชนิด แต่ที่มีผลกระทบ “ทางตรง” อย่างมีนัยสำคัญมีอยู่ 3 หมวดหมู่ด้วยกัน ได้แก่

1. Energy: Oil & Gas

2. Agriculture: Wheat, Corn, Sunflower Oil

3. Metal: Palladium, Aluminium, Nickel

1️⃣ Energy supply นั้นเป็นเรื่องที่ทั้ง US และ EU ต่างกังวลอยู่แล้ว ทั้งในมุมของความมั่นคงทางพลังงานและราคาที่อยู่ในระดับสูงเป็นทุนเดิม เนื่องจาก Russia เป็นผู้ผลิต crude oil อันดับ 3 ของโลก โดยผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 11.3 mb/d สูสีกับ Saudi Arabia ซึ่งผลิตได้ 12 mb/d จากปริมาณ world supply ทั้งหมดประมาณ 100 mb/d (ล้านบาร์เรลต่อวัน) นั่นหมายความว่า 11% ของปริมาณการผลิต crude oil ทั้งหมดของโลกอยู่ในมือของ Russia

นอกจากนี้แล้ว Russia ยังเป็นผู้ส่งออก crude oil อันดับ 2 ของโลก ประมาณ 5 mb/d และถ้านับ total oil (ผลิตภัณฑ์น้ำมันทั้งหมด) แล้วนั้น Russia เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกเลยทีเดียว! ทำให้ Russia เป็นสมาชิกที่สำคัญของกลุ่ม OPEC+ ที่มีอิทธิพลในการควบคุมปริมาณการผลิตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพี่ใหญ่อย่าง Saudi Arabia

ลูกค้ารายใหญ่ของน้ำมันดิบ Russia ก็หนีไม่พ้น EU (60% ของการส่งออกของ Russia) และถ้ามองในมุมกลับกัน EU มีการนำเข้าน้ำมันจาก Russia คิดเป็นสัดส่วนราว 1/3 ของปริมาณการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด ซึ่งราว 15% ของน้ำมันดิบที่ EU นำเข้าจาก Russia นั้นถูกส่งผ่านท่อส่งน้ำมัน Druzhba ซึ่งมี capacity 1 mb/d โดยท่อนี้วิ่งผ่าน Ukraine ไปยัง Belarus ก่อนที่จะวิ่งต่อไปประเทศอื่นในยุโรป

ด้วยมาตรการ sanction ทางการเงิน ประกอบกับความเสี่ยงในการเดินเรือที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อน้ำมันดิบ Russia ไม่กล้าซื้อ เพราะการชำระเงินก็ทำได้ยากลำบาก อีกทั้งบริษัทประกันภัยก็ปฏิเสธการรับประกันภัยทางทะเลสำหรับเส้นทางเดินเรือบริเวณ Russia แล้ว คาดว่าขณะนี้การส่งออกน้ำมันดิบของ Russia ราว 1 mb/d ได้รับผลกระทบแล้ว และอีก 3.5 mb/d ก็เสี่ยงที่จะส่งมอบไม่ได้ (อีกประมาณ 0.5 mb/d อาจจะวิ่งผ่านท่อส่งน้ำมันเส้นอื่นไปทางจีนได้) ดังนั้น Russia เองก็จะสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันเช่นกัน

OPEC เหลือ spare capacity เพียง 2.5 mb/d เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะชดเชยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของ Russia ได้ทั้งหมดในระยะเวลาอันใกล้ และที่ผ่านมา OPEC เองก็ยังส่งมอบน้ำมันดิบได้ต่ำกว่าปริมาณที่ตกลงกันตั้งแต่ ก.ค. 2021 อีกด้วย ทั้งนี้เกิดจาก

1. การเพิ่มปริมาณการผลิตในระยะสั้นนั้นไม่ง่าย แหล่งน้ำมันที่หยุดผลิตไปนาน ต้องใช้เวลาในการ restart กลับมา หลายแหล่งผลิตก็อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเมืองและขาดความพร้อมในด้านเทคนิค/โครงสร้างพื้นฐาน

2. ประเทศที่ดูจะมีความพร้อมมากที่สุดอย่าง Saudi Arabia ก็น่าจะผลิตได้เพิ่มแค่ 1.0-1.5 mb/d ในระยะเวลา 1-2 เดือน แต่ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะทำแบบนั้น เพราะเกี่ยวพันกับรายได้หลักของประเทศ

ส่วนในระยะยาว การลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตน้ำมันนั้นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและระยะเวลานาน (30ปี) ถึงจะคุ้มลงทุน ด้วยข้อตกลง COP26 และแนวโน้มการใช้ Renewable Energy ดังนั้นราคาน้ำมันที่แพงในตอนนี้คงยังไม่เพียงพอที่จะจูงใจให้เกิดการลงทุน

Non-OPEC อย่างผู้ผลิต Shale Oil ใน US ซึ่งเคย operate มากที่สุด 948 rigs ในช่วงต้นปี 2019 ตอนนี้ก็กลับมา operate อยู่ราว 580 rigs แม้ว่าจะฟื้นมาจากจุดต่ำสุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เหลือเพียง 200 rigs แต่ผู้ผลิตเหล่านี้มีกระแสเงินสดที่ไม่ดี และไม่พร้อมที่จะเสี่ยงกับราคาน้ำมันที่ไม่แน่นอนว่าจะอยู่ในระดับสูงได้อีกนานแค่ไหน

Iran เป็นความหวังที่จะช่วย supply น้ำมันดิบได้ ทำให้หลายคนมีความหวังกับผลการเจรจาเรื่อง Nuclear ของ Iran กับ US และนานาชาติ ทั้งนี้ก่อนที่ US จะถอนตัวออกจากข้อตกลง Nuclear เมื่อปี 2018 นั้น Iran เคยส่งออกน้ำมันดิบได้ถึง 2.5 mb/d แต่ในปัจจุบันส่งออกไม่ถึง 0.25 mb/d เพราะโดน sanction และตัดจากระบบ SWIFT อย่างไรก็ดีการเจรจาเรื่อง Nuclear ยังคงยืดเยื้อ และแม้ว่าจะเจรจาสำเร็จ Iran ก็น่าจะส่งออกน้ำมันดิบได้เพียง 1.0-1.5 mb/d ในระยะเวลา 6-12 เดือนข้างหน้า เพราะหยุดผลิตไปนาน

นอกจากน้ำมันแล้ว ยุโรปนำเข้า Natural Gas (ก๊าซธรรมชาติ) จาก Russia เกือบ 40% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด โดยพี่ใหญ่อย่าง Germany และ France พึ่งพิงการนำเข้าก๊าซจาก Russia ประมาณ 40%-50% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่ Austria, Slovakia, Romania, Lituania นำเข้าก๊าซจาก Russia เพียงแหล่งเดียว

Russia ลดปริมาณการส่งก๊าชให้ยุโรปตั้งแต่ฤดูหนาวของปี 2020 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ประจวบกับฤดูหนาวนี้ก็หนาวกว่าปกติ ทำให้มีความต้องการก๊าซเพื่อทำความร้อนมากขึ้น อีกทั้งการจะเปลี่ยนไปใช้ coal (ถ่านหิน) แทนก็ติดปัญหาเรื่อง carbon emission อีกด้วย ทำให้สต๊อกก๊าซในยุโรปอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10ปี

ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 มี capacity 55 mcm/d ในขณะที่ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่กำลังจะเริ่มขนส่งก๊าซจะช่วยเพิ่ม capacity อีกเท่าตัว รวมเป็น 110 mcm/d ซึ่งจากเดิมที่จะช่วยให้การส่งก๊าซไม่ต้องผ่านท่อก๊าซของ Ukraine ซึ่งมี capacity ถึง 142 bcm (ปัจจุบันใช้งานจริงประมาณ 40-55 mcm/d) แต่ Nord Stream 2 ก็ถูกประกาศยกเลิกการใช้งานเพื่อ sanction Russia

LNG (Liquefied Natural Gas) เป็นแหล่งพลังงานที่ยุโรปใช้ทดแทนก๊าซจาก Russia แต่เมื่อเทียบกันแล้วมีราคาแพงกว่าก๊าซอย่างน้อย 6 เท่า! แม้ว่า Qatar, Malaysia, Australia จะมี LNG แต่ก็ไม่สามารถจะขายให้กับยุโรปได้ตามปริมาณที่ยุโรปต้องการเพราะติดสัญญาส่งมอบระยะยาวกับผู้ใช้อื่น ประเทศที่พอจะช่วยได้ในขณะนี้ก็มีเพียง US ซึ่งมีการส่งออก LNG ไปยังยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ก็ชดเชยได้เพียง 60% (เป็นอย่างมาก) หากก๊าซของ Russia กว่า 40 mcm/d ที่ส่งผ่านท่อก๊าซของ Ukraine อยู่ในขณะนี้ต้องหยุดไป

#กล่าวโดยสรุปคือ แม้ว่าก่อนที่ความตึงเครียดระหว่าง Russia & Ukraine จะทวีขึ้นจนเกิดการปะทะกันนั้นราคาน้ำมันดิบ WTI จะอยู่ในระดับไม่เกิน $85/bbl และส่วนเกินจากระดับ $85/bbl ขึ้นมานี้เราอาจถือได้ว่าเป็น War Risk Premium ซึ่งหากสงครามยืดเยื้อหรือรุนแรงขึ้น ก็แน่นอนว่าราคาน้ำมันพร้อมที่จะขึ้นไปต่อได้อีก จนกว่าสงครามจะหยุด หรือเราเริ่มเห็นสัญญาณของ demand destruction (คือผู้ซื้อ รับราคาที่สูงไม่ไหวแล้ว มีการลดการใช้ลงอย่างมีนัยสำคัญ) เราจึงจะเริ่มเห็นการพักตัวลงของราคาน้ำมัน

แต่แนวรับที่ประเมิน ณ วันนี้*น่าจะถูกยกระดับขึ้นมาเป็น $95 – $100/bbl เป็นอย่างน้อยในระยะสั้น-ระยะกลาง (*อาจจะสูงกว่านี้ขึ้นกับความยืดเยื้อและผลกระทบจากสงคราม) เนื่องจากผลกระทบจากความขัดแย้งและมาตรการ sanction ที่ได้เกิดขึ้นแล้วได้ทำให้เกิด irreversible loss (การสูญเสียที่เรียกกลับมาไม่ได้) ต่อ oil & gas supply ไปอีกสักระยะหนึ่ง แม้ว่าผู้ซื้อจะอยากกลับมาซื้อน้ำมันหรือก๊าซจาก Russia และ Russia เองก็จะอยากขายเพื่อให้มีรายได้ แต่อุปสรรคในการชำระเงิน ความเสี่ยงจากการขนส่งทางเรือ จะคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง

2️⃣ Agriculture Supply ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่าง Russia & Ukraine ก็มีไม่น้อย

โดยเฉพาะ wheat (ข้าวสาลี) ซึ่ง 2 ประเทศนี้ผลิตได้รวมกันราว 15% ของผลผลิตทั่วโลก แต่ปริมาณการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนสูงเกือบ 30% ของปริมาณการส่งออก wheat ทั่วโลก (Russia ส่งออก 35 ล้านตัน, Ukraine ส่งออก 24 ล้านตัน) ซึ่งฤดูกาลที่ผ่านมายังมี Russian wheat ที่ยังไม่ได้ส่งออกอีกราว 7 ล้านตัน ซึ่ง Russia เองก็ได้ปรับเพิ่มภาษีส่งออก และจำกัดปริมาณส่งออก เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงเกินไป

นอกจากนี้ยังมี corn (ข้าวโพด) ที่แม้ว่า Russia & Ukraine จะผลิตได้รวมกันไม่ถึง 5% ของผลผลิตทั่วโลก แต่ปริมาณการส่งออกของ 2 ประเทศนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20% ของปริมาณการส่งออก corn ทั่วโลก (Russia ส่งออก 4.5 ล้านตัน, Ukraine ส่งออก 33.5 ล้านตัน เป็นอันดับ 2 ของโลก) ซึ่งฤดูกาลที่ผ่านมายังมี Ukrainian corn ที่ยังไม่ได้ส่งออกอีกประมาณ 18 ล้านตัน

ทั้ง wheat และ corn เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญทั้งส่วนที่เป็นอาหารคน และอาหารสัตว์ ซึ่งในระยะสั้นนี้การส่งออกก็ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกับน้ำมัน ที่ผู้ซื้อก็จ่ายเงินได้ลำบาก (บางรายก็ไม่กล้าจ่าย เพราะกลัวสินค้าจะส่งมอบมาไม่ได้) และผู้ขายก็ส่งสินค้าไม่ได้เพราะความเสี่ยงจากการขนส่งทางเรือ แต่เมื่อเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องบริโภค ผู้ซื้อก็ต้องหาซื้อทดแทนจากแหล่งอื่นมาทดแทนให้เร็วที่สุด จึงทำให้ราคา wheat พุ่งขึ้นกว่า 30% และ corn พุ่งขึ้นกว่า 10% นับตั้งแต่การปะทะกันระหว่าง Russia & Ukraine รุนแรงขึ้น

sunflowerseed (เมล็ดทานตะวัน) เป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรที่ Russia & Ukraine ผลิตได้รวมกันเกือบ 60% ของผลผลิตทั่วโลก และส่งออก sunflower oil (น้ำมันทานตะวัน) เกือบ 80% ของปริมาณการส่งออก sunflower oil ทั่วโลก ซึ่งในบรรดาน้ำมันพืชที่ซื้อขายกันทั่วโลกนั้น น้ำมันทานตะวันใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากน้ำมันปาล์ม และคิดเป็นสัดส่วนถึง 15% ของปริมาณการค้าน้ำมันพืชทั้งหมดทั่วโลก

sunflower oil เองก็ไม่ต่างจากสินค้าชนิดอื่นที่ไม่สามารถส่งออกมาได้ ทำให้ราคาน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนปรับขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลา และน้ำมันทานตะวัน ปรับขึ้นไปแล้ว 10%-25% และต่างทำสถิติสูงสุดใหม่ (all-time high) ไปตามๆ กัน และยังทำให้ราคา soybean (เมล็ดถั่วเหลือง) ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญในวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับขึ้นไปด้วย

#กล่าวโดยสรุปคือ สินค้าเกษตรก็มีลักษณะคล้ายกับสินค้ากลุ่มพลังงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้ง corn & soybean ก็มีปัญหาด้าน supply ที่ต่ำกว่าคาดจากความแห้งแล้งในอเมริกาใต้จากปรากฏการณ์ La Nina อยู่แล้ว โดยก่อนที่ความตึงเครียดจะทวีความรุนแรงขึ้นราคา corn อยู่ในระดับไม่เกิน 660 USc/bu wheat อยู่ในระดับไม่เกิน 850 USc/bu และ soybean อยู่ในระดับไม่เกิน 1550 USc/bu แต่ราคาต่างพุ่งสูงขึ้นตาม War Risk Premium ซึ่งหากสงครามยืดเยื้อหรือรุนแรงขึ้น ราคาก็พร้อมที่จะขึ้นไปต่อได้เช่นกัน จนกว่าสงครามจะหยุด หรือเราเริ่มเห็นสัญญาณของ demand destruction (คือผู้ซื้อปลายทาง รับราคาที่สูงไม่ไหวแล้ว มีการลดการบบริโภคลงอย่างมีนัยสำคัญ) ซึ่งราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้จะถูกส่งผ่านไปยังต้นทุนอาหารสัตว์ไปสู่ราคาเนื้อสัตว์ และราคาน้ำมันพืช ที่เราบริโภคให้ปรับสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

แต่สำหรับสินค้าเกษตรนั้นจะมี irreversible loss (การสูญเสียที่เรียกกลับมาไม่ได้) ที่น่าเป็นห่วงกว่าสินค้ากลุ่มพลังงาน เพราะ Russia & Ukraine กำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูกาลเพาะปลูกรอบใหม่ในช่วงเดือน เม.ย. นี้ ซึ่งในระยะสั้น-ระยะกลาง แม้ว่าจะมีการหยุดยิง แต่ก็เชื่อว่าเกษตรกรยังไม่กลับไปเพาะปลูกได้เหมือนเดิม เพราะพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของ Ukraine ซึ่งจะยังคงมีความตึงเครียดอยู่ ประกอบกับราคาปุ๋ย urea ที่ปรับขึ้นกว่า 25% ตามราคา gas ที่พุ่งสูงขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นด้วย (หรือถ้าใส่ปุ๋ยน้อยเพื่อประหยัดต้นทุน ก็จะได้ผลผลิตลดลง) ดังนั้นแนวรับน่าจะถูกยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการยืดเยื้อของสงคราม

3️⃣ Metal Supply ก็มีโลหะหลายชนิดที่ Russia เป็นผู้ผลิตหลัก เช่น

Palladium: Russia เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยผลิตเกือบ 40% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก และส่งออกราว 25% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก

Nickel: Russia ผลิต 6% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก แต่ส่งออกไม่ถึง 1% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก

Aluminium: Russia เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยผลิต 11% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก และส่งออกประมาณ 10% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก

ซึ่ง Nickel และ Alluminium เป็นโลหะที่ใช้พลังงานในการผลิตและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตที่สูงกว่าโลหะชนิดอื่นๆ ค่อนข้างมากอยู่แล้ว ประกอบกับราคาพลังงานทั้งถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และข้อกำหนดในเรื่อง CO2 emission ที่เข้มงวดขึ้น ก็ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น ทำให้การผลิตชะลอลงและสต๊อกอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำอยู่เป็นทุนเดิม เมื่อเกิดสงครามระหว่าง Russia & Ukraine จึงยิ่งเร่งให้ราคาโลหะเหล่านี้ปรับตัวขึ้นแรง

📌 #กล่าวโดยสรุป สำหรับการลงทุนใน commodity

ถือว่าเป็นสินทรัพย์หมวดที่มักจะปรับขึ้นอยู่แล้วทั้งจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และภาวะความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์/สงคราม ซึ่ง commodity หลายชนิดก็ได้ปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วจากข้อจำกัดในด้าน supply ที่ได้รับผลกระทบจาก covid-19 บ้าง จากปัจจัยพื้นฐานด้านภูมิอากาศบ้าง จากปัจจัยข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมบ้าง รวมถึงต้นทุนที่เกี่ยวพันกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่ราคาปรับขึ้นแรงมากในช่วงที่มาตรการ sanction รุนแรงขึ้นตามความขัดแย้งระหว่าง Russia & Ukraine ที่ได้ปะทุขึ้นเป็นสงครามนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นราคาที่แพงขึ้นจาก War Risk Premium ซึ่งแน่นอนว่าราคาส่วนนี้จะลดลงหลังสงครามหยุดลง แต่เชื่อว่าราคาจะไม่กลับลงไปต่ำเท่าเดิมก่อนสงคราม เพราะโดยธรรมชาติของ commodity จะมีความเชื่องช้า (stickiness) ในการปรับตัวของ supply และบางเหตุปัจจัยก็ทำให้เกิด irreversible loss ต่อ supply ได้ในระยะสั้น (1-2เดือน) ถึงระยะกลาง (3-6เดือน) ซึ่งจะค่อยๆ ปรับกลับคืนมาสู่ดุลยภาพได้ในระยะยาว

ดังนั้นการเข้าไปลงทุนใน commodity ตอนนี้ แน่นอนว่าก็มีความเสี่ยงที่มีสงครามเป็นปัจจัยหลักที่จะเป็นตัวกำหนดว่าราคาจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ส่วนปัจจัยรองที่จะบอกว่าราคาไปต่อไม่ไหวแล้ว ก็คือ demand จากผู้บริโภคตัวจริง ว่าจะลดการบริโภคลงแค่ไหนหากราคาแพงจนเกินกำลังซื้อ นั่นก็คือ demand destruction นั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่เกิดขึ้นทันทีทันใด หากแต่จะค่อยๆ เกิดและพอสังเกตุได้ ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าปัจจัยใดจะเกิดขึ้นก่อน เพราะฉะนั้นนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนใน commodity ตอนนี้ก็ต้องรับความเสี่ยงได้สูง และพร้อมที่จะซื้อขายอย่างรวดเร็วตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

———————————

📊 ในส่วนของคำถามยอดฮิตที่ 3 ทางแอด T-da จะมาตอบให้ฟังกันในอนาคต

แนะนำให้ทุกท่านเปิดกระดิ่งตั้งค่า “รายการโปรด” หรือ “Favourite” ไว้บนเพจได้เลยครับ เพื่อจะได้ไม่โดนการปิดกั้นการมองเห็น และอาจพลาดข่าวสารที่สำคัญจากทางเพจไป

และนักลงทุนท่านใดสนใจมาเข้าร่วมกลุ่ม #LINE เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนข่าวสารเรื่อง #การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ไปกับทีม Trader KP และแอด T-da ติดต่อได้ที่ LINE Official @traderkp (https://lin.ee/a3S9iGv) และบอกว่าอยากเข้ากลุ่ม “การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ” ได้เลยครับ (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น)

🙏 ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจของเรา ฝากกด Like และ Share เพื่อให้นักลงทุนท่านอื่นได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 👍😊

#ทันโลกกับTraderKP