Bitcoin ยังลงทุนได้อยู่ไหม ? และจะเป็น Digital Gold ได้จริงหรือเปล่า ?

🔎 [Investment Insight] – Bitcoin ยังลงทุนได้อยู่ไหม ? และจะเป็น Digital Gold ได้จริงหรือเปล่า ?

บทความจากแอด #Tda

#หลุมหลบภัยสำหรับเงินเฟ้อ

ตั้งแต่ Fed เริ่มส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยและเตรียมที่จะดึงปริมาณเงินกลับจากตลาดการเงิน (Quantititative Tightening: QT) เราก็เริ่มเห็นการปรับตัวลงของ cryptocurrencies ตามมาด้วยการปรับตัวลงของตลาดหุ้น ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่า Bitcoin (พี่ใหญ่ที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดในบรรดา cryptocurrencies และมี supply จำกัดที่ 21ล้านเหรียญอย่างแน่นอน) เป็น digital gold จริงหรือไม่ เพราะมีการเคลื่อนไหวเหมือน risky assets มากกว่าจะเป็น safe haven assets

#หลุมหลบภัยจากสงคราม

เมื่อความขัดแย้งระหว่าง Russia-Ukraine เริ่มส่อเค้าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 จนกระทั่งเกิดปะทะกันทางการทหารเมื่อ 24 ก.พ. 2022 ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้น Russia (MOEX) และ Bitcoin ก็ปรับลงอย่างหนัก สวนทางกับราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ทันทีที่ US, UK, Canada ตกลงร่วมกันที่จะตัดธนาคาร (ส่วนใหญ่) ของ Russia ออกจากระบบ SWIFT เพื่อเป็นการตอบโต้ Russia เมื่อวันเสาร์ที่ 26 ก.พ. 2022 ก็ส่งผลให้เงิน Russian Ruble อ่อนค่าไปกว่า 30% ทันทีเมื่อตลาดเงินเปิดทำการในเช้าวันจันทร์ที่ 28 ก.พ. 2022 (ตลาดหุ้น MOEX ปิดทำการ) ในขณะที่ราคา Bitcoin พุ่งขึ้นสูงกว่า $44,000 และปริมาณการทำธุรกรรมระหว่าง Russian Ruble กับ Bitcoin และ stable coin เช่น Tether ก็พุ่งขึ้นสูงกว่าปกติ 3-5 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม Bitcoin ยังคงแกว่งตัวอยู่ในกรอบ $34,000-$46,000 ไม่สามารถปรับขึ้นไปได้สูงกว่านี้นับตั้งแต่เกิดสงครามขึ้น

📌 จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมาข้างต้นทำให้เกิดข้อสังเกตุ ดังนี้

1️⃣ Bitcoin ไม่ได้มีพฤติกรรมราคาเหมือนสินทรัพย์หลบภัย (Safe Haven Asset) ในช่วงที่ตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับตลาดการเงิน (การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการทำ QT) ไม่เหมือน digital gold ที่คนคาดหวัง แต่กลับมีพฤติกรรมราคาที่คล้ายกับสินทรัพย์เสี่ยง (Risky Asset) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

1) ปริมาณเงินจาก QE

ราคา Bitcoin เริ่มปรับเป็นขาขึ้นชัดเจนในเดือน ตค. 2020 ถ้าย้อนกลับไปดูรายละเอียดจะพบว่าเมื่อการระบาดของ Covid-19 ทำให้ Fed ประกาศหลังการประชุมในวันที่ 15 มี.ค. 2020 ว่าจะอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ตลาดการเงิน (Quantitative Easing : QE) หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ปริมาณเงินมหาศาลก็ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น และเมื่อดัชนี S&P500 ปรับตัวกลับขึ้นไปสูงกว่าจุดสูงสุดเดิมก่อน Covid-19 (3,400จุด) แต่ยังไม่สามารถทะลุระดับ 3,600 จุดขึ้นไปต่อได้ ตลาดหุ้นก็เริ่มผันผวนในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 2020 (เพราะ valuation ของหุ้นเริ่มดูแพงแล้วเทียบกับพื้นฐานเศรษฐกิจจริง ณ ขณะนั้น) แต่ด้วยปริมาณเงิน QE ที่ยังอัดฉีดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เราก็เริ่มเห็นการปรับเป็นขาขึ้นของ Bitcoin อย่างชัดเจนตั้งแต่นั้นมา พร้อมกับ S&P500 ที่ผ่านแนวต้านที่ 3,600จุด ขึ้นไปด้วยกันกับ cryptocurrencies ดังนั้นจึงไม่แน่แปลกใจว่าเมื่อ Fed เริ่มส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยตามด้วย QT ก็ทำให้ Bitcoin ปรับลงไปพร้อมกับราคาหุ้น และดูมีพฤติกรรมคล้ายไปทาง Risky Asset มากกว่า **ดูภาพประกอบ**

2) Volatility (ความผันผวน)

ของราคา cryptocurrencies ทั้งหลาย รวมถึง Bitcoin อยู่ในระดับสูงกว่าทองคำและสกุลเงินที่ถูกใช้เป็น Safe Haven ในวิกฤตการณ์การเงินอื่นๆ ที่ผ่านมา (ดอลลาร์สหรัฐฯ USD, สวิสฟรังก์ CHF, เยนญี่ปุ่น JPY) ทำให้นักลงทุนจำนวนมากยังกังวลกับการถือ cryptocurrencies เพื่อเป็น Safe Haven Assets

2️⃣ Bitcoin อาจเป็น Safe Haven Asset ได้คล้ายกับทองคำ ในกรณีที่เกิดสงครามที่มีความรุนแรงและขยายวงกว้าง เพราะในภาวะสงครามนั้นการด้อยค่าของเงินหลายๆ สกุลอาจรุนแรงระดับ hyperinflation ซึ่งทำให้ Volatility ของ Bitcoin ในแง่ของ Risk-Reward นั้นคุ้มค่าที่จะถือครองได้ในสถานการณ์ดังกล่าว อีกทั้ง Bitcoin นั้นมีคุณสมบัติที่เป็นอิสระต่อนโยบายของรัฐใดๆ และสามารถทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนในหน่วยย่อยที่สะดวกกว่าทองคำ อีกทั้งยังถูกขนย้ายได้สะดวกกว่าทองคำ

1) สงครามในวงจำกัด

กรณีสงคราม Russia-Ukraine ขณะนี้ยังอยู่ในวงจำกัด ชาติสมาชิกของ NATO รวมถึง US เองก็พยายามจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในทางตรงในฐานะคู่สงครามด้วย ทำให้ stable coin อย่าง Tether ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีว่า Bitcoin ด้วยซ้ำ ถ้าผู้ที่ถือครองสินทรัพย์ในสกุล Russian Ruble เพียงต้องการที่จะหาอะไรสักอย่างที่จะมารักษามูลค่าสินทรัพย์ (store of value) ของตนไม่ให้ด้อยค่าลงไปในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือต้องการเพียงจะถ่ายโอนสินทรัพย์ของตนเองออกไปนอกประเทศ Russia หรือต้องการเพียงจะทำธุรกรรมซื้อขายกับประเทศอื่นๆ โดยไม่ผ่านระบบ SWIFT ก็แน่นอนว่า stable coin สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลาง หรือเป็นที่พักพิงในระยะสั้นได้ แต่อาจมีอุปสรรคเพิ่มขึ้นบ้างถ้า crypto exchange ให้ความร่วมมือในการ sanction การทำธุรกรรม เพราะต้องปฏิบัติตามกฏหมาย/คำสั่งของรัฐในประเทศที่ตนเองดำเนินกิจการอยู่ ก็ต้องไปใช้วิธีแบบ P2P แทน

2) สงครามที่รุนแรงและขยายวงกว้าง

หากประเทศที่เข้าร่วมสงครามมีจำนวนมาก ในภาวะที่เราไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะกันแน่ สิ่งที่เราเคยคิดว่า USD, CHF, JPY เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยก็อาจจะถูกสั่นคลอน หากประเทศเหล่านี้เข้าร่วมในสงครามและมีความเสี่ยงที่จะเสียหายหรือพ่ายแพ้ กรณีแบบนี้การเลือกถือ Bitcoin ที่ไม่ต้องไปยึดติดกับนโยบายการเงินหรือนโยบายด้านความมั่นคง (การทหาร) ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีไม่แพ้ทองคำ ซึ่งคงต้องใช้เวลาและเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นเครื่องพิสูจน์

📌 #สรุปว่า Bitcoin ยังลงทุนได้ไหม ? 🤔

1) ถ้าอยากจะลงทุนระยะสั้น เพื่อเก็งกำไร

ก็ยังต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะตามที่อธิบายไปข้างต้น ณ ตอนนี้และอนาคตอันใกล้ยังเชื่อว่า Bitcoin จะมีพฤติกรรมคล้ายไปทาง Risky Assets ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเมื่อการทำ QT เริ่มขึ้น (ตามที่ท่านประธาน Fed บอกไว้ล่าสุดก็คือ พ.ค. 2022 นี้) ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed หากไม่มี surprise ที่ขึ้นเยอะกว่าที่คาดไว้ ก็อาจจะไม่ได้มีผลมากนัก เพราะตลาดได้ priced in ปัจจัยนี้ไว้พอสมควรแล้ว

2) ถ้าจะลงทุนระยะยาว แบบเก็บสะสม

ลักษณะเดียวกับการซื้อทองคำเก็บไว้ใน portfolio (อาจจะเป็นสัดส่วน 5-10% หรือมากกว่าในบางสภาวะตลาด) หรือเก็บเป็น physical gold เผื่อยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงคราม หรือเก็บสะสมเพราะเชื่อมั่นว่า Bitcoin จะสามารถเป็น currency หนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต กรณีแบบนี้ก็สามารถซื้อได้เมื่อราคาลงมาในระดับที่เหมาะสม (ไม่ใช่ไล่ซื้อตามทุกราคา) และซื้อตามปริมาณที่จัดสรรไว้แล้ว (ไม่ใช่เอาเงินทั้งหมดไปซื้อ)

ส่วนตัวของแอดมินใช้วิธีแยก portfolio ไปเลย ระหว่าง trading ระยะสั้น กับ ลงทุนระยะยาว

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ นักลงทุนทุกท่านค่ะ 😊

———————————————-

📊 นักลงทุนท่านใดสนใจมาเข้าร่วมกลุ่ม #LINE เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนข่าวสารเรื่อง #การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ไปกับทีม Trader KP และแอด T-da

ติดต่อได้ที่ LINE Official @traderkp (https://lin.ee/a3S9iGv) และบอกว่าอยากเข้ากลุ่ม “การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ” ได้เลยครับ (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น)

🙏 ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจของเรา ฝากกด Like และ Share เพื่อให้นักลงทุนท่านอื่นได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 👍😊

#ทันโลกกับTraderKP