Inverted Yield Curve หรือสัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจถดถอยกลับอีกครั้งแล้ว ! แต่ทำไมครั้งนี้ Trader KP ถึงอาจยังไม่กังวลเรื่องสัญญาณ Inverted Yield Curve นี้มากเท่าไหร่นัก ??

⚠️[KP Analysis]⚠️ Inverted Yield Curve หรือสัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจถดถอยกลับอีกครั้งแล้ว ! แต่ทำไมครั้งนี้ Trader KP ถึงอาจยังไม่กังวลเรื่องสัญญาณ Inverted Yield Curve นี้มากเท่าไหร่นัก ??

Inverted Yield Curve เกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว ซึ่งตลาดมองว่าเป็นภาวะที่ผิดปกติ เพราะโดยทั่วไปอัตราผลตอบแทนพันธบัตเมื่อเทียบในระยะต่างๆ หรือ Yield Curve ควรจะมีลักษณะที่ชันขึ้น หรือยิ่งซื้อพันธบัตรระยะยาว (ฝากเงินระยะยาว) ก็ควรจะได้ผลตอบแทนมากกว่าการซื้อพันธบัตรระยะสั้น

ในอดีตแล้วสัญญาณของ Inverted Yield Curve จะเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ได้ดีในอนาคต และก็เป็นสัญญาณที่ถูกต้องมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว

แต่จากมุมมองของ Trader คนนึงแล้ว ทำสัญญาณครั้งนี้อาจยังไม่ได้สร้างความกังวลให้กับ Trader KP มากนัก หรืออย่างน้อยหากตลาดจะเกิด Recession ขึ้นจริงๆ มันยังไม่ใช่เพราะ Inverted Yield Curve เพิ่งเกิดขึ้น แต่อาจเป็นเพราะตัวแปลอื่นๆ เริ่มแย่ลงไปด้วยต่างหาก ทำให้เรายังคงต้องติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด

1️⃣ ขอเริ่มอธิบาย Yield Curve หรือส่วนต่างของผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) ในช่วงเวลาต่างๆ แบบง่ายๆก่อน ว่าทำไมผลตอบแทนถึงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ ?

ขอเปรียบเทียบการ “ฝากเงินเข้าธนาคาร” ตามปกติก่อน ถ้าเงินเราต้องไปฝากอยู่กับธนาคารนานๆ ส่วนมากเราก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าใช่ไหมครับ ? เพราะธนาคารสามารถนำเงินของเราไปหมุนหรือลงทุนในระยะยาวๆได้ และเราก็ต้องถือความเสี่ยงนั้นไว้นาน ว่าธนาคารนั้นจะล้มหายตายจากไปไหนไหม ทำให้โดยธรรมชาติแล้วเราควรต้องได้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่าการฝากเงินแค่ระยะสั้นๆ นี่คือผลตอบแทนของการฝากเงินในภาวะปกติ

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็เปรียบเทียบได้คล้ายกับ “การฝากเงินเข้าธนาคารของบริษัทใหญ่ๆทั่วโลก” แต่แค่บริษัทใหญ่ๆนำเงินไปฝากกับรัฐบาลสหรัฐไว้แทน (ไม่ใช่ธนาคาร) ตามปกติอัตราผลตอบแทนในระยะสั้นก็จะต่ำกว่าระยะยาวเช่นเดียวเหมือนกัน

แต่สิ่งนึงที่ต่างจากธนาคารคือผลตอบแทนของ Bond Yield นั้น จะขึ้นลงตามความต้องการซื้อขายของนักลงทุน หากมีคนฝากในระยะไหนๆ เยอะผลตอบแทนของระยะนั้นก็จะลดลงตามไป ซึ่งก็เปรียบได้เสมือนกับธุรกิจปกติแหละครับ หากสินค้าไหนมีความต้องการเยอะ เราก็จะเพิ่มราคาขึ้นใช่ไหมครับ ? ในขณะเดียวกันสินค้าที่ขายไม่ออก เราก็จะลดราคามันลง

พันธบัตรรัฐบาลก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการคิดผลตอบแทนดอกเบี้ย หากมีแต่คนอยากซื้อพันธบัตรระยะยาว ราคาหน้าตั๋วของพันธบัตรนั้นก็จะสูงขึ้น หรือในทางกลับกันก็คือพันธบัตรจะให้ Yield หรือผลตอบแทนที่ลดลง

2️⃣ เมื่อไหร่ที่เกิด Inverted Yield Curve ขึ้นก็คือ “คนแห่เข้าซื้อพันธบัตระยะยาวสูงมาก แต่กลับไม่มีคนซื้อระยะสั้นเลย” จนดันให้ผลตอบแทนในระยะสั้นนั้นดีดสูงกว่าระยะยาว !

การที่นักลงทุนแห่เข้ามาซื้อพันธบัตรระยะยาวอย่างสูงแปลว่า “เค้าคิดว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาลงแล้ว” เค้าจึงยอมที่จะล็อคผลตอบแทนในระยะยาวแม้ว่ามันจะต่ำกว่าระยะสั้น เพราะหากซื้อในระยะสั้นเช่น 1 ปี แล้วผ่านไปปีนึงพอได้เงินกลับมาลงทุนใหม่ ดอกเบี้ยในช่วงนั้นอาจจะลงไปต่ำมากๆแล้ว จนไม่สามารถฝากใหม่ได้ที่ผลตอบแทนเดิม

3️⃣ โดยปกติแล้วเหตุการณ์นี้น่ากลัวอย่างไร ??

โดยปกติแล้วผู้ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐต่างๆนั้นคือเหล่าบริษัทใหญ่ๆของโลก กองทุนชั้นนำ และกลุ่มผู้ที่มีความรู้ทางด้านการเงินโลกเป็นอย่างดี

เงินขั้นต่ำสุดในการซื้อพันธบัตรสหรัฐนั้นคือ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินกว่า 30 ล้านบาท ! ไม่น่าจะใช่ผู้คนรายย่อยอย่างเราอยู่แล้วที่เข้าไปซื้อ กลุ่มคนพวกนี้ส่วนใหญ่น่าจะมีข่าวสารวงในหรือข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่ารายย่อยแน่ๆ และหากพวกเค้ากลับพร้อมที่จะฝากเงินเค้าออกไป ไม่ยุ่ง ไม่แตะไปอีก 10 ปี ไม่นำเงินนี้มาลงทุนเลยในระยะสั้น มันก็สื่อได้ถึงภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้นไหมละครับ ว่ามันไม่น่ามีอะไรน่าลงทุนแล้ว ฝากเงินเข้าไปธนาคารยาวๆ เพื่อไม่ให้เสียเงินดีกว่า

4️⃣ Inverted Yield ทำให้เศรษฐกิจจะแย่ ? หรือว่าเศรษฐกิจที่แย่ทำให้เกิด Inverted Yield ??

อันนี้ก็เหมือนกับปัญหา “ไก่กับไข่” อะไรเกิดก่อนกันครับ โลกเศรษฐกิจและการเงินนั้นมันสัมพันธ์กันอยู่ตลอด เหตุการณ์ทั้งคู่นั้นส่งผลซึ่งกันและกัน ทำให้ตอนนี้เมื่อเกิด Inverted Yield ขึ้นแล้วเราจึงอาจกลัวว่าจะเกิด Recession ขึ้น

เมื่อกี้เราอธิบายไปแล้วว่าทำไมเศรษฐกิจที่แย่ทำให้เกิด Inverted Yield เพราะว่านักลงทุนไม่ต้องการเงินลงทุน มาลงทุนในระยะสั้นแล้ว หรือที่เราเรียกว่า “Risk Off Environment” คือตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ลงทุนอะไรก็เสี่ยงหมด สู้เอาเงินออกจากทรัพย์สินเสี่ยงๆ เหล่านี้มาฝากประจำดีกว่า

ในทางกลับกันพอ Bond Curve เป็น Inverted Yield แล้ว มันก็จะยิ่งส่งผลลบต่อเศรษฐกิจเข้าไปอีก เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยระยะสั้นเริ่มแพงกว่าระยะยาวแล้ว ในมุมของการลงทุนก็แปลว่าต้นทุนของกิจการจะแพงขึ้น ค่าแรง ค่ากู้ยืมเงินจะดูสูงขึ้นทันที จนทำให้หลายๆกิจการอาจจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้ม เมื่อเทียบกับการฝากเงินในระยะยาว จนทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ขึ้นไปอีก

5️⃣ ทำให้ Inverted Yield Curve นั้นจึงอาจเป็นคล้ายๆกับ Self Fulfilling Prophecy หรือสิ่งที่พยากรณ์ไว้แล้ว ทำให้ตัวเองกลัวและยิ่งทำให้สถานการณ์นั้นเป็นจริง

คล้ายๆกับการที่เราคิดว่าตัวเราเองนั้นป่วย เลยยิ่งเครียดหนัก และสุดท้ายเราก็อาจจะป่วยไปเลยจริงๆ เช่นเดียวกับนักลงทุนที่แห่ซื้อพันธบันตระยะยาวเพื่อพยายามหนี Recession แต่สุดท้ายเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปซื้อพันธบันตระยะยาวเหล่านั้น กลับอาจเป็นทำให้เกิด Recession ขึ้นมาได้จริงๆ จากการทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้นแพงขึ้นมาเอง

6️⃣ #อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเกิด Inverted Yield Curve ครั้งนี้นั้น เหตุผลนั้นอาจไม่เหมือนครั้งก่อนๆ

โดยถึงแม้ในรอบนี้เหล่าบริษัทใหญ่ๆของโลก กองทุนชั้นนำ และกลุ่มผู้ที่มีความรู้ทางด้านการเงินโลกเป็นอย่างดี กำลังแห่ซื้อพันธบัตรระยะยาวมากกว่าการซื้อพันธบัตรระยะสั้น แต่พวกเขาไม่ได้เข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวมากกว่าระยะสั้นเพียงเพราะมองว่าเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัวเพียงอย่างเดียว

แต่ #เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้พวกเขาซื้อพันธบัตรระยะยาวมากกว่าใครครั้งนี้คือ “ความกลัวภาวะเงินเฟ้อสูงในระยะสั้น” มากกว่า

ตอนนี้เนื่องจากการอัดฉีดเงินและสภาพคล่องมากมายจาก FED และรัฐบาลสหรัฐ รวมไปถึงปัญหา Supply Chain กำลังทำให้ค่าเงินเฟ้อระยะสั้นในสหรัฐดีดแตะระดับสูงที่สุดในรอบ 40 ปี มันไม่ใช่สภาพเงินเฟ้อที่ปกติ จนทำให้หากมอง Curve ของเงินเฟ้อไปในอนาคตนั้น ค่าเงินเฟ้อกำลังเกิด Inflation Backwardation ที่สูงที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาทีเดียว

Inflation Backwardation คือการที่นักลงทุนมองว่าค่าเงินเฟ้อในอนาคตจะไม่ได้สูงเหมือนทุกวันนี้ และหากเราพยายามมอง Yield Curve ในปัจจุบัน ด้วยการใส่มุมมองของค่าเงินเฟ้อในอนาคตเข้าไป (หรือมอง Yield Curve in Inflation terms) มันจะทำให้เราเห็นได้ชัดว่า Yield Curve นั้นยังอยู่ในรูปแบบปกติ และยังไม่ Inverted

หรือแปลง่ายๆว่า หากเทียบผลตอบแทนของพันธบัตรในระยะสั้นและระยะยาวหลังหักผลกระทบจากเงินเฟ้อออกไปแล้ว ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นยังคงต่ำกว่าพันธบัตรระยะยาวตามปกติ และไม่ได้มีการ Inverted แต่อย่างใด ต่างจากการเกิด Inverted Yield Curve ในปี 2006 กับ 2019 ที่หลังจากหักกับผลกระทบจากเงินเฟ้อออกไปแล้ว ผลผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นกลับสูงกว่าพันธบัตรระยะยาวจริงๆ

7️⃣ #สรุป อย่างที่ย้ำไว้ จากมุมมองของ Trader คนนึงแล้ว ถึงแม้สัญญาณ Inverted Yield Curve ครั้งนี้อาจยังไม่ได้สร้างความกังวลให้กับ Trader KP มากนัก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Recession จะไม่เกิดขึ้นจริงๆ แต่อย่างน้อยหากตลาดจะเกิด Recession ขึ้นมันยังต้องเกิดจากตัวแปลอื่นๆที่เริ่มแย่ลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงาน ราคาพลังงาน รวมไปถึงเส้นอัตราผลตอบแทน 10 ปีเทียบกับ 3 เดือน (3M10Y spread) ที่เป็นตัวทำนายภาวะถดถอยที่แม่นกว่า (ที่ตอนนี้ยังไม่ Invert เลย)

ทำให้เรายังคงต้องติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด โดยทาง Trader KP จะคอยนำข่าวสารการลงทุนที่สำคัญและ “ทันโลก” เช่นนี้มาฝากทุกท่านเสมอ แนะนำให้ทุกท่านเปิดกระดิ่งตั้งค่า “รายการโปรด” หรือ “Favorite” ไว้บนเพจได้เลยครับ เพื่อจะได้ไม่โดนการปิดกั้นการมองเห็น และอาจพลาดข่าวสารที่สำคัญจากทางเพจไป

🙏 ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจของเรา ฝากกด Like และ Share เพื่อให้นักลงทุนท่านอื่นได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 👍😊

#ทันโลกกับTraderKP